'จ๊ะเอ๋' เครื่องมือดูแลลูกยุคใหม่พัฒนาสมองเด็กไทยไม่เสียเงิน

Last updated: 28 พ.ค. 2562  |  3906 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 

การ "เล่นจ๊ะเอ๋" กับลูก แฝงความมหัศจรรย์ที่ช่วยให้สมองและพัฒนาการของเด็กในหลายด้านถูกกระตุ้นอย่างที่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึง การเล่นจ๊ะเอ๋ช่วยให้เด็กในช่วง 2 ขวบปีแรกนั้น จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องการคงอยู่ของสิ่งต่างๆ จากการที่ผู้ใหญ่ปิดตาหรือซ่อนแอบ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการสื่อสารระหว่างกัน, ฝึกการจดจำข้อมูล, โดยเด็กจะจำว่าผู้ปกครองชอบโผล่ทางไหน และคาดเดาว่าครั้งต่อไปจะเป็นทิศทางใด ฝึกให้รู้จักอดทนรอคอย ช่วงเวลาที่ปิดหน้าหรือซ่อนหลังสิ่งของ เด็กจะรู้จักรอคอยว่าเมื่อไหร่จะเปิดตาหรือโผล่ขึ้นมา รวมทั้งพัฒนาด้านการสื่อสาร เพราะการสื่อสารสำหรับเด็กเกิดขึ้นเมื่อมีการยิ้ม, หัวเราะ, ร้องไห้, มองตา, หรือขยับมือไม้ แขน-ขาของเด็กทารกได้รับการตอบสนอง

ดังนั้นปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นขณะที่ลูกเล่นจ๊ะเอ๋กับพ่อแม่ จึงช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางการสื่อสารระหว่างกันได้อย่างดี อีกทั้งยังเกิดสายสัมพันธ์ความผูกพันในหัวใจของลูก เพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็กเป็นศูนย์กลาง, การสบตา, การใช้เสียงสูงต่ำ, รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ทำให้ถักทอสายสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นต้น

ขณะที่ ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาปฐมวัย ได้เผยถึงเคล็ดลับง่ายๆ ในการเลี้ยงลูกจากสาธิตห้องเรียนพ่อแม่ ว่าการจะส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้ดีและสมวัยนั้น ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมาก ก็คือการเลี้ยงดูด้วยการให้ความรัก, ความเอาใจใส่ โดยพ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องปรับตัว โดยยึดหลักให้เด็กมีพัฒนาการในทุกด้านทั้งร่างกาย, อารมณ์, สังคมสติปัญญา อย่างเท่าเทียมกัน

สิ่งสำคัญคือการให้เวลาที่มีคุณภาพกับเด็กนั้น คือ "เวลาแห่งการเล่น" จัดระบบการใช้ชีวิตในแต่ละวันเพื่ออยู่กับลูก หมั่นฝึกให้เด็กมีทักษะการสังเกตสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน พ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกด้วย

โดยการเลี้ยงลูกให้เป็นจะมีหลักการง่ายๆ คือ ตั้งเป้าหมายตัวเองให้ถูก คือการไม่คิดว่าลูกเป็นของเรา เขามีชีวิตเพื่อตัวเขาเอง รวมถึงไม่มีค่านิยมผิดๆ ว่าลูกของตนจะต้องเป็นอย่างนั้นหรือเป็นอย่างนี้ นอกจากนี้ เข้าใจธรรมชาติของลูกและคาดหวังอย่างเหมาะสม อย่าเอาลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น และควรฝึกวินัยเชิงบวกให้กับลูก ส่วนการเล่นของลูกนั้นเปรียบเสมือนการเรียน


สำหรับประโยชน์จากการที่ชวนลูกเล่น มีดังต่อไปนี้

1. ค้นพบ ความถนัดของลูกได้จากการเล่นแบบต่างๆ

2. ได้สังเกตตรวจเช็ก พัฒนาการของลูกว่าด้านใดช้าไปหรือไม่

3. คอยเสริมสร้างความมั่นใจ ด้วยการให้กำลังใจในการฝึกทักษะผ่านการเล่น

4. ตั้งคำถามชวนลูกคิดหาคำตอบเพื่อกระตุ้นต่อยอดความคิดของลูกได้

5. สร้างความรัก ความอบอุ่นและความผูกพันในครอบครัว

6. พูดคุย ระหว่างเล่นจะพัฒนาทักษะการสื่อสารได้

7. ช่วยลูกหาวิธีเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการทักษะการเรียนรู้ให้กับลูกได้

8. ลูกได้เรียนรู้ทักษะและบทบาททางสังคมจากการเล่นกับผู้อื่น

ซึ่งเคล็ดลับสำคัญชวนลูกเล่นกิจกรรมที่ได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 6 ประกอบไปด้วย ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ และนึกถึงวิธีการเล่นที่กระตุ้นพัฒนาการด้านต่างๆ นั่นคือ การเล่นที่ได้ใช้ส่วนต่างๆ คือการเล่นที่ได้ใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีการสื่อสารพูดคุยและเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น

 




เครดิตรูปภาพจาก
สสส https://www.youtube.com/watch?v=0K9zs82NkuE
http://www.rakluke.com

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้